เพิ่มหนังสือเข้าตะกร้าเรียบร้อยแล้วค่ะ

18+
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาบางส่วนเหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กดปุ่ม "ดำเนินการต่อ" หากต้องการเพิ่มสินค้าลงในตะกร้า
ค้นหา
Thai
All Categories
    Menu Close

    อุบากอง ต้องกล

    นักเขียน: พู่กันชนก
    สำนักพิมพ์: แมงเวาคำ
    หมวดหมู่ : สืบสวน
    0 ความคิดเห็น
    ประเภทไฟล์:
    PDF
    จำนวนหน้า:
    331
    ผู้คนต่างเข้าใจว่ารอยขีดเขียนที่เชลยสงครามนามว่า "อุบากอง" ทิ้งเอาไว้ในกำแพงห้องขังที่วัดโพธิ์นั้น คงเป็น "ตายาม" ที่อุบากองใช้ยึดถือในขณะแหกคุกหลบหนีไปจึงพากันเรียกขานรอยขีดเขียนดังกล่าวนี้ว่า “ยามอุบากอง” และได้นำมายึดถือต่อ ๆ กันมาอย่างแพร่หลายตั้งแต่เวลานั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน.... แต่ทว่า.... แท้จริงแล้วรอยขีดเขียนที่ว่านี้ จะเป็นฝีมือของอุบากองที่จงใจทิ้งเอาไว้จริงหรือไม่ ?... จะเป็นตายามดังที่ผู้คนเข้าใจกันจริง ๆ หรือไม่ ?. หรืออาจเป็นเพียง “รหัสลับ” ที่เขาต้องการสื่ออะไรบางอย่างซึ่งไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับเรื่องของฤกษ์ยามเลยแม้แต่น้อย ?... ข้อสงสัยเหล่านี้มีให้คุณผู้อ่านได้เข้าไปค้นหากันได้ใน... "อุบากอง ต้องกล"

    ในปีพ.ศ. ๒๓๔๕ นักโทษเชลยสงครามผู้หนึ่งนามว่า “อุบากอง” เขาเป็นอดีตแม่ทัพพม่าที่ถูกจับมาเป็นเชลยเมื่อครั้งสงครามพม่าตีเชียงใหม่เมื่อเจ็ดปีก่อน โดยหลังจากถูกนำตัวลงมาสอบสวนที่กรุงรัตนโกสินทร์ก็พบว่าแม่ของเขานั้นมีเชื้อสายเป็นชาวธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระเมตตา พระราชทานเสื้อผ้า แล้วให้นำไปจำขังไว้ที่คุกวัดโพธิ์

    ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมานี้ ว่ากันว่าอุบากองนั้นได้พยายามคลุกคลีสนิทสนมกับผู้คนแทบทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นบรรดานักโทษด้วยกันเอง ตลอดจน ผู้คุมทุกผู้ทุกคน และด้วยพระเมตตาที่หาที่สุดมิได้ขององค์พ่ออยู่หัว ประกอบกับการประพฤติตัวดีของเขา ภายในเวลาไม่นานนักก็กลายเป็นนักโทษชั้นดี สามารถเข้าออกคุกได้อย่างสะดวก ซึ่งในช่วงแรก ๆ นั้นก็ยังคงต้องไปไหนมาไหนโดยมีโซ่ตรวนพันธนาการเอาไว้ แต่ผ่านไปนานปีอุบากองอาศัยความรู้ด้านไสยเวทย์ของตน ได้จัดทำเครื่องราง ของขลัง ออกมาจำหน่าย พวกชาวบ้านก็นิยมชมชอบพากันซื้อหาเก็บไว้ ส่วนอุบากองนั้นเมื่อได้เงินมาก็นำมาเลี้ยงสุราอาหารผู้คุมบ้าง ซื้อของไปฝากพวกขุนนางผู้ใหญ่บ้าง นานวันเข้าจึงได้รับการปลดโซ่ตรวนออก สามารถไปไหนมาไหนภายในกรุงรัตนโกสินทร์ได้ตามอำเภอใจ โดยมีผู้คุมผลัดเวรกันคอยดูแลติดตามอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา และเมื่อเวลาค่ำก็ต้องกลับไปนอนที่คุกวัดโพธิ์ตามเดิม

    เวลานั้น เจ้าพระยาไชยวิชิต ผู้ซึ่งได้รับพระเมตตาจากองค์พ่ออยู่หัวให้อยู่รักษากรุงเก่าหลังจากพระองค์ทรงย้ายราชธานีมายังกรุงรัตโกสินทร์ เจ้าพระยาไชยวิชิตผู้นี้นอกจากจะมีตำแหน่งที่สูงแล้วยังเป็นขุนนางที่องค์พ่ออยู่หัวทรงไว้วางพระทัยเป็นอย่างมากอีกด้วย เป็นบุคคลที่ขุนนางส่วนใหญ่ให้ความเคารพยำเกรง แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองทำให้ขุนนางผู้ใหญ่บางกลุ่มที่เป็นคนเก่าคนแก่นั้นไม่ค่อยพอใจกันนักที่เจ้าพระยาไชยวิชิตนั้นมียศถาบรรดาศักดิ์เจริญก้าวหน้าข้ามหัวพวกตน จึงคอยจ้องหาโอกาสเล่นงานอยู่เนือง ๆ เจ้าพระยาไชยวิชิตเองนั้นก็แจ้งในข้อนี้ดีจึงไม่อาจนิ่งนอนใจได้เกรงว่าหากสิ้นองค์พ่ออยู่หัวแล้วตนก็คงจะสิ้นวาสนาตามไปด้วยเป็นแน่ จึงหารือกับเหล่าขุนนางที่เป็นพรรคพวกคนสนิทของตนซึ่งได้แก่ พระอินทรเดช พระยาเพ็ชรปาณี และพระยาราม ก็คิดอ่านกันว่าเห็นสมควรวางแผนชิงอำนาจทั้งหมดมาไว้ในมือเสียจึงจะอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้ ทั้งหมดจึงวางแผนเอาไว้ว่า หากถึงวันที่องค์พ่ออยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ก็จะนำกองกำลังเข้าคุมตัวกรมหลวงอิศรสุนทร (วังหน้า) เป็นตัวประกัน แล้วอันเชิญเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้าเหม็น) ขึ้นสืบราชบัลลังก์ เนื่องจากเห็นว่า พระองค์ทรงเป็นผู้สืบสายพระโลหิตเพียงหนึ่งเดียวของพระเจ้ากรุงธนบุรีหากอัญเชิญพระองค์ขึ้นเสวยราชพวกตนก็จะได้ไม่ถูกผู้คนครหา และที่สำคัญพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ หากทำการสำเร็จเจ้าพระยาไชยวิชิตก็จะสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการสถาปนาตนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้โดยสะดวก อยู่เหนือคนทั้งแผ่นดินอยู่ใต้คนเพียงคนเดียว การนี้พวกเขาทั้งสี่ได้คบคิดวางแผนกันเองโดยที่ฝ่ายของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์นั้นไม่มีส่วนรู้เห็นใด ๆ เลยแม้แต่น้อย

    เวลานั้นเชลยอุบากองได้ทำสร้อยลูกประคำ เครื่องราง ของขลัง ต่าง ๆ ออกมาขาย พวกชาวบ้านต่างก็นิยมชมชอบซื้อหากันเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกพ่อค้าเครื่องประดับคนอื่น ๆ ต่างขายของไม่ค่อยได้ พวกนี้จึงไม่มีเงินจ่ายให้แก่พระอินทรเดช (ซึ่งแอบใช้อำนาจเรียกเก็บเองโดยพละการ) เหมือนก่อน ๆ นอกจากนั้นแล้วอุบากองยังชอบเข้าไปเล่นการพนันในบ่อนที่พระอินทรเดชดูแลอยู่อีกด้วย ซึ่งก็มักได้เงินก้อนโตติดไม้ติดมือกลับออกมาแทบทุกครั้ง พระอินทรเดชสูญเสียเงินไปไม่น้อยเริ่มทนไม่ไหวจึงส่งคนไปเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากอุบากองแต่อุบากองไม่มีจ่ายให้เพราะเงินที่ตนได้มาส่วนใหญ่ก็นำไปเลี้ยงสุราอาหารพวกผู้คุมไปเสียหมดสิ้นไม่เหลือหลอ และอีกประการหนึ่งนั้นตัวอุบากองเองก็รู้มาเหมือนกันว่าพระอินทรเดชนั้นก็มีศัตรูอยู่ไม่น้อยเขาจึงไม่ค่อยเกรงพระอินทรเดชเท่าใดนักแม้จะเป็นถึงกรมพระตำรวจนอกซ้ายก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้พระอินทรเดชจึงคิดกำจัดเชลยอุบากองผู้นี้ทิ้งไปเสีย แต่จะส่งคนไปฆ่าทิ้งให้ตายในคุกก็เกรงเรื่องจะมาถึงตัวทีหลังอีก จึงคิดออกอุบายลวงให้อุบากองแหกคุกหนีไปแล้วส่งคนตามสะกดรอยเพื่อฆ่าทิ้งกลางป่า พระอินทรเดชเตรียมการเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างดีแล้วแต่ยังไม่ดำเนินการเพราะเฝ้ารอคอยจังหวะที่เหมาะสมอยู่

    แต่แล้วเมืองเชียงใหม่ก็เกิดศึกพม่ายกมาล้อมเมืองสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงต้องยกทัพขึ้นไปช่วยรบที่เชียงใหม่ โดยก่อนที่จะยกทัพไปนั้นได้จัดให้มีการสมัครคัดเลือกทหารฝีมือดีเพื่อเข้าร่วมกองทัพ และนอกจากนั้นก็ยังจัดให้มีการคัดเลือกโหรเพื่อเข้าไปเป็นที่ปรึกษาประจำกองทัพในการทำศึกหนนี้อีกด้วย

    และแล้ววันที่พระอินทรเดชรอคอยก็มาถึง พระอินทรเดชดำเนินการตามแผนการบางอย่าง อุบากองก็ต้องกลลวงตามคาด เขาแหกคุกหนีไปในคืนวันที่กองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเคลื่อนพลออกไปแล้ว โดยที่มีกลุ่มลูกสมุนของพระอินทรเดชคอยติดตามสะกดรอยไปเรื่อย ๆ เพื่อจะฆ่าทิ้งกลางป่า

    แต่แล้วบางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามคาด เมื่อ “พันอ่อน” ทหารพวกของพระอินทรเดชอีกผู้หนึ่งที่ รับหน้าที่ตามตรวจสอบดูการหลบหนีของอุบากองเพื่อป้องกันอุบากองทิ้งหลักฐานอะไรเชื่อมโยงมาถึงฝ่ายตนนั้น ได้ลอบเข้าไปสำรวจห้องขังของอุบากองทันทีที่อุบากองจากไปแล้ว เขาก็เข้าไปพบกับรอยขีดเขียนบนผนังห้อง เป็นรอยขีดเขียนที่เขาคิดว่าน่าจะหมายถึงทำนองว่ามีขุนนางใหญ่สี่คนกำลังคิดก่อการไม่ซื่อต่อองค์พ่ออยู่หัว เขาจึงคิดได้ว่าต้องหาทางทำลายรอยเขียนนี้ทิ้งไปให้เร็วที่สุด แต่เมื่อจะทำลายลงไปนั้นก็ฉุกก็คิดได้ว่า หากจะทำให้รอยนั้นหายไปหมดเกลี้ยงคงจะใช้เวลานานเกินไป ตนลอบเข้ามาในคุกนี้ก็ต้องรีบออกไปโดยเร็ว จึงตัดสินใจขีดเขียนรอยใหม่เพิ่มเติมเข้าไปเพื่ออำพรางเพราะใช้เวลาน้อยกว่า ทีแรกเขาก็คิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรเพิ่มเติมลงไป แต่เมื่อนึกได้ว่าอุบากองนั้นเป็นคนที่มีความรู้ทั้งทางด้านไสยเวทย์ และศาสตร์ต่างๆ มากมาย จึงตัดสินใจขีดเขียนรอยเพิ่มเติมให้ดูเป็น “ตายาม” สำหรับใช้ดูฤกษ์ยามไปเสียจะได้ไม่เป็นที่สงสัย เขาจึงจัดการขีดเขียนเพิ่มเติมอีก ๖ บรรทัด กลายเป็น ๗ บรรทัด โดยมีตัวเลขกำกับด้านหน้าทุกบรรทัดแทนวันทั้ง ๗ วัน ส่วนเครื่องหมาย ๆ วงกลมและกากบาทนั้น ก็พยายามดัดแปลงต่อเติมให้ดูเป็นตายามให้มากที่สุด เมื่อเขาเขียนเสร็จก็เร่งออกจากคุกตรงนั้นไป

    และแล้วรอยขีดเขียนของพันอ่อนก็กลับกลายไปเป็น “ยามอุบากอง” ที่ผู้คนล่ำลือกัน แต่ทว่ายังมีผู้คนอีกบางกลุ่มที่มีความรู้เรื่องวิชาโหรนั้นได้ตั้งข้อสงสัยในยามของอุบากองนี้ ด้วยเหตุเพราะเป็นยามที่มีการแบ่งยามผิดกับหลักการแบ่งยามโดยทั่วไป และยังเป็นยามที่มีความละเอียดน้อยเกินไปอีกด้วย ไม่น่าจะนำไปใช้ยึดถืออะไรได้ แตกต่างจาก “ยามพระรามเดินดง” ที่ชาวรัตนโกสินทร์ได้ยึดถือมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลาช้านานแล้ว ที่มีความละเอียดมากกว่ายามอุบากองถึงราว ๆ สี่เท่า ..... ข้อสงสัยนี้เองจึงทำให้มีคนบางกลุ่มพยายามสืบดูค้นหาความจริง และก็ได้ค้นพบเรื่องราวบางอย่างที่เชื่อมโยงไปถึงแผนการร้ายของขุนนางใหญ่บางกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ “กบฏเจ้าฟ้าเหม็น” ที่เกิดขึ้นในอีก ๑๐ ปีต่อมาอีกด้วย

    *****

    รายละเอียดผลิตภัณฑ์
    RatePG (Parental Guidance Suggested)
    ประเภทหนังสือBook + E-Book

    สินค้าชิ้นนี้สามารถลงความคิดเห็นได้ หลังจากทำการสั่งซื้อแล้วเท่านั้น

    ลูกค้าที่ซื้อรายการนี้